
รัฐบาลของประเทศกัมพูชา ให้การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ มีการสร้างแผนที่จุด Hotspot ในบริเวณรับแสงแดดในประเทศ มีการวางแผนสร้างเป็นผังใช้ทำโครงการทุ่งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
สถานีโทรทัศน์ Channelnewsasia ( CNA ) รายงานว่า ประเทศกัมพูชายังคงใช้เขื่อนน้ำขนาดใหญ่รวมทั้งถ่านหินเพื่อเป็นพลังหลักในการผลิตไฟฟ้า แต่ประเทศกัมพูชาก็เริ่มสร้างพื้นฐานในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สร้างความยั่งยืนให้แหล่งพลังงานของประเทศ
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลแห่งกรุงพนมเปญ ได้จัดทำแผนที่ Hotspot อันแสดงให้เห็นถึงปริมาณความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ในแต่ละพื้นที่ของประเทศ จัดเป็นอีกหนึ่งขั้นตอน เพื่อเปิดรับการลงทุนสร้างทุ่งโซลาร์เซลล์ แต่อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังแสดงออกว่า ต้องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกอย่างช้าๆ
นอกจากนี้ CNA ยังรายงานว่านักลงทุนจากต่างประเทศ พุ่งความสนใจการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ในกัมพูชาเป็นอย่างมาก ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท Sunseap แห่งประเทศสิงคโปร์ สามารถชนะการประมูลในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ขนาด 10 Megawatt ในกัมพูชาเป็นโครงการแรกของประเทศ
Frank Phuan กรรมการบริษัท Sunseap กล่าวว่าโรงไฟฟ้าขนาด 10 Megawatt จัดว่ามีขนาดเล็กมากหากเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำหรือถ่านหิน แต่อย่างไรก็ตามยังเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า รัฐบาลกัมพูชามีความสนใจในการขยายอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้คาดว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จะขยายตัวขึ้น
CNA ยังระบุอีกว่าในประเทศกัมพูชา มีประชาชนจำนวนกว่า 6 ล้านคน ซึ่งระบบไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ตามบริเวณชนบทพบปัญหาไฟตกไฟดับค่อนข้างบ่อย แม้ในจังหวัดสตรึงเตรงเองก็ตาม ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่ตั้งโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ของประเทศ
รัฐบาลกัมพูชาตั้งเป้าหมายในการบริการไฟฟ้า ให้เข้าถึงทุกหย่อมหญ้าในปี พ.ศ. 2563 ส่วนใหญ่แล้วเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ โดยขณะนี้ในประเทศมีเขื่อนผลิตไฟฟ้า 8 เขื่อน มีกำลังการผลิต 1,049 Megawatt ส่วนมากให้สัมปทานกับบริษัทของจีน ทำให้พื้นที่จ่ายไฟฟ้าจำนวนมากอยู่ภายใต้สัมปทานของจีน อีกทั้งภาครัฐของกัมพูชาเองก็ไม่กล้าเปิดสัมปทานไฟฟ้าพลังงานทางเลือกมากเท่าไหร่ เนื่องจากกลัวจะเกิดการทับซ้อนกันขึ้น
อย่างไรก็ดี นาย John McGinley กล่าวเสริมว่า โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้ามีปัญหาค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะทั้งเรื่องการต่อต้านเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือ การเคลื่อนย้ายประชาชน ต้นทุนการสร้างเขื่อนอันเพิ่มมากขึ้น ใช้ระยะเวลายาวนาน ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ใช้เงินน้อยกว่า ทำได้ด้วยความรวดเร็ว ปราศจากปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 7 ปี แต่ทุ่งโซลาร์เซลล์ในกำลังวัตต์ที่เท่ากันใช้เวลาสร้างแค่ 6-12 เดือนเท่านั้น